ประวัติอำเภอมะขาม
อำเภอมะขาม มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าเดิมเป็นเมืองของขอมมาแต่โบราณ และตกมาอยู่ในความครอบครองของไทยเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะปรากฏว่าในปัจจุบันนี้ยังมีราษฎรในพื้นที่อำเภอมะขาม ที่มีเชื้อสายของพวกชองหรือเขมร และชาวเขาอยู่บ้างบางแห่ง
ในสมัยโบราณ อำเภอมะขาม ได้จัดการปกครองเป็น ด่าน สำหรับเก็บส่วยอากรต่างๆ ไม่ได้จัดการปกครองเป็นอำเภอเช่นปัจจุบันนี้ โดยมีที่ทำการด่าน ตั้งอยู่ที่ บ้านท่าหลวง (ตำบลท่าหลวงในปัจจุบันนี้) ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี ห่างจากที่ว่าการอำเภอมะขามปัจจุบัน 6 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อ ร.ศ. 118(พ.ศ. 2442 ) ทางราชการ ได้เปลี่ยนการปกครองจาก ด่าน เป็น อำเภอ และมาตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่บ้านท่าหลวง ที่เดิม เรียกว่า อำเภอท่าหลวง โดยมีพระพลสงคราม ( กรีด) นายด่านเดิม เป็นนายอำเภอคนแรก ของอำเภอท่าหลวง
ครั้นต่อมา ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) สมัยนั้นฝรั่งเศส ได้เข้ายึดจันทบุรีและได้มีบุคคลชาวต่างประเทศ และพ่อค้าวานิช ได้เดินทางไปค้าขายระหว่างจันทบุรี กับ เมืองไพลิน จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา โดยเดินทางตามเส้นทางผ่านบ้านมะขาม และมักจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นระหว่างเดินทางบ่อยๆ ทางราชการจึงได้พิจารณาเห็นว่า ที่ว่าการอำเภอเดิมที่ตั้งอยู่บ้านท่าหลวงนั้น อยู่ห่างเส้นทางจากจันทบุรีที่จะไปไพลิน ไม่สะดวกต่อการที่จะเป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองและสินค้าต่างๆ จึงได้มีคำสั่งให้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ บ้านมะขาม แต่ยังคงเรียกชื่อว่า ที่ว่าการอำเภอท่าหลวง ตามเดิม สมัยนั้นพระเทพสงคราม (แบน บุญนาค) ภายหลังเป็น หลวงจันทราษฎร์บัญชา เป็นนายอำเภอท่าหลวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ทางการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่ โดยใช้ชื่อว่า อำเภอมะขาม เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน ที่ตั้งอำเภอ ตั้งแต่นั้นมา
คำว่า มะขาม นั้น ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านได้ใช้เรียกขานมานานแล้ว ตามทางสันนิษฐานและหลักฐานต่างๆ พอน่าเชื่อถือได้ว่าเดิมชาวบ้านเรียกว่า บ้านมาขาม ซึ่งแปลว่า เกรงกลัวหรือเกรงขาม เพราะภูมิประเทศของหมู่บ้านนี้เดิมเป็นป่าทึบ ไม่มีบ้านเรือนราษฎรอยู่อาศัย เมื่อย้ายอำเภอมาตั้งใหม่ๆ ปรากฏว่ามีบ้านเรือนราษฎรเพียง 3 ? 4 หลังคาเรือน
การเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดจันทบุรีกับบ้านไพลิน จังหวัดพระตะบอง เป็นไปด้วยความยากลำบากและเปลี่ยวมาก มีไข้ป่า(มาลาเรีย)และสัตว์ร้ายนานาชนิด ชุกชุมมาก ทำให้เป็นที่เกรงขามแก่บรรดาผู้ที่เดินทางไปมาเป็นอย่างยิ่ง และในปีหนึ่งๆ ปรากฏว่ามีคนเสียชีวิตด้วยไข้ป่าและสัตว์ทำร้ายเป็น จำนวนมาก จึงได้ขนานนามหมู่บ้านนี้ขึ้นว่า บ้านมาขาม ครั้นต่อๆ มาการเรียกขานนามหมู่บ้านนี้ค่อยๆเพี้ยนไปจากคำว่ามาขาม ที่ออกเสียงยาว มาเป็น มะขาม จนกลายเป็น บ้านมะขาม ถึงปัจจุบันนี้