3 วิธี ลดหวาน ห่างไกลโรค

เป็นที่รู้กันดีว่าการกินอาหารรสหวานมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลของคนไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเอ็นซีดี (NCDs) ซึ่งการติดรสชาติความหวานเป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
ปรับพฤติกรรม ลดหวาน เลี่ยงโรค thaihealth
ทพ.ญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายแนวโน้มการบริโภคหวานของคนไทยในปัจจุบันว่า คำว่า “หวาน” ใช้แทนเรื่องการบริโภคน้ำตาล เพราะความหวานในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่มาจากน้ำตาล ซึ่งทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมีกระบวนการติดตามความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งในขณะนี้อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทย เฉลี่ยที่ 25 ช้อนชา ต่อวัน/คน หรือประมาณ 100 กรัม /คน เป็นน้ำตาลที่กินเป็นส่วนเติมและกินทุกวัน โดยที่ยังไม่ได้รวมในส่วนที่ปรุงมากับอาหาร หรือเครื่องดื่มรสหวานชนิดต่างๆ โดยรวมแล้วคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาล หรือรสหวานมากขึ้น แต่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำตาลเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพรวมของร่างกาย และสุขภาพช่องปากที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมาอีกภายหลัง
ปรับพฤติกรรม ลดหวาน เลี่ยงโรค thaihealth
ทพ.ญ.ปิยะดา ยังบอกอีกว่า การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี (NCDs) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ เมื่อฟันผุก็ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ เด็กที่เคี้ยวอาหารไม่ได้ก็จะขาดโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย หรือผุ้สูงอายุเองที่เคี้ยวอาหารไม่ได้ก็ไม่สามารถกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้
“อาการติดรสชาติของความหวานนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำตาลไม่ใช่สารเสพติด ดังนั้นคนที่กินน้ำตาลจึงไม่ได้มีอาการรุนแรงจนร่างกายทนไม่ได้ แต่การติดหวานในที่นี้คือติดความสุขจากการได้กินรสหวาน เพราะฉะนั้นพฤติกรรมเหล่านี้สามารถปรับแก้ได้ ซึ่งคนที่ทราบผลกระทบจากการบริโภคน้ำตาลและตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตก็จะสามารถปรับลดปริมาณของน้ำตาลที่กินในแต่ละวันลงได้”ทพ.ญ.ปิยะดา อธิบายเพิ่มเติม
ปรับพฤติกรรม ลดหวาน เลี่ยงโรค thaihealth
ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ยังแนะนำ 3 วิธี ง่ายๆ ปรับพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล ดังนี้
1.ทุกอย่างจะต้องเริ่มปรับที่ตัวเองก่อน ซึ่งต้องค่อยๆ ลดความหวานลงที่ละน้อยให้รู้สึกว่าไม่ทรมานตัวเองมากเกินไป เช่นการปรุงก๋วยเตี๋ยว จากเดิมที่เคยใส่น้ำตาลที่ละมากๆ ก็ควรปรับลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร
2.บอกพ่อค้า แม่ค้า ในการประกอบอาหารว่า “ไม่หวาน” หรือเลือกอาหารที่เห็นว่าไม่มันมากจนเกินไปเพราะจะมีรสหวานพ่วงมาด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับได้เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง
3.ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และควรพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

เรื่องโดย สสส.


เขียนเมื่อ 2016-01-09 โดย เว็บมาสเตอร์ เข้าชม 895 ครั้ง