5 กิจกรรมทางกาย เพื่อสูงวัยแข็งแรง

ทุกคนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการที่ต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุหากมีการดำเนินชีวิตตามวงจรของชีวิต ซึ่งวัยผู้สูงอายุหลายคนมองว่าเป็นวัยที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต สูง และโรคหัวใจ เป็นต้น
5 กิจกรรมทางกาย เพื่อสูงวัยแข็งแรง thaihealth

แฟ้มภาพ
แน่นอนว่าการออกกำลังกายเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหลายทาง แต่สำหรับผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวกแล้ว การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายามอยู่ไม่น้อย “การมีรูปแบบแนวทางให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
วันนี้เรามีรูปแบบและหลักในการเลือกกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุมาฝากค่ะ
กิจกรรมทางกาย หรือ Physical Activity หมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกายโดยกล้ามเนื้อและกระดูกที่ทำให้เกิดการเผาพลาญพลังงานครอบคลุมการประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และในสายอาชีพ การทำกิจกรรมในเวลาว่าง ซึ่งรวมถึงการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การทำกิจกรรมนันทนาการ การท่องเที่ยว (ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก ปีพ.ศ. 2553)
รูปแบบกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุ
1. กิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำเป็นกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองที่บ้าน หรือในยามว่างหลังเสร็จภารกิจจากการทำงาน ถือเป็นกิจกรรม ได้แก่ งานบ้าน กวาดและถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้ เดินขึ้นลงบันได เลี้ยงหลาน และการยกสิ่งของ เป็นต้น
2. กิจกรรมการเดินทาง โดยวิธีการเดิน ปั่นจักรยาน หรือการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ได้แก่ การเดินไปจ่ายตลาดในบริเวณใกล้เคียง การเดินไปทำงาน การขี่จักรยาน หรือการเดินขึ้นลงบันได เป็นต้น
3. กิจกรรมสันทนาการงานอดิเรก เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพจิตใจและสมองให้กับผู้สูงอายุ ในช่วงเวลาว่างจากการทำงาน บ้านหรือกิจกรรมประจำวันอื่นๆ เช่น การร้องเพลง การเต้นรำ การวาดภาพ การถ่ายรูป การปลูกต้นไม้ เป็นต้น
4. กิจกรรมในรูปแบบการออกกำลังกายง่ายๆ เช่น ลีลาศ การรำไทเก็ก รำไม้พลอง
5. กิจกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือนักกายภาพ
หลักในการเลือกกิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุ
1. เลือกกิจกรรมทางกายที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน และบริบทชุมชนของผู้สูงอายุ
2. เมื่อมีอายุมากขึ้นผุ้สูงอายุจะมีภาวะร่างกายที่อ่อนแรง (frailty) พร้อมกับโรคเรื้อรัง กิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุจึงไม่ควรเกินความสามารถทั้งด้านทักษะ การรับความรู้สึกและการเคลื่อนไหว
3. ผู้สูงอายุที่เริ่มต้นกิจกรรมทางกาย ควรเริ่มจากแบบเบาโดยทำให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์
4. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพมากขึ้น ผู้สูงอายุสามารถเพิ่มระดับการทำกิจกรรมทางกายโดยแบ่งเป็นช่วงโดยตามความสามารถโดยจะต้องไม่หักโหม
สิ่งที่จำเป็นต้องระวังสำหรับผู้สูงอายุเมื่อทำกิจกรรมทางกาย คือ หากรู้สึกเหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน เหงื่อออกมาก ตัวเย็น เจ็บตรงหัวใจ หรือร้าวไปที่ไหล่ซ้าย เวียนศรีษะ ควบคุมลำตัว แขน ขา ไม่ได้ มีอาการอ่อนแรง เป็นต้น ควรหยุดทำกิจกรรม และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะนั้นอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมักคิดว่าตนเองอยู่ในช่วงชีวิตที่ต้องพบเจอกับความเสื่อมโทรมของร่างกาย ความเปลี่ยนแปลงที่ด้อยลงของกายภาพ ปัญหาด้านสุขภาพ แท้จริงแล้วเราสามารถเผชิญกับวัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพด้วยการมี ‘กิจกรรมทางกาย’
รู้แบบนี้แล้ว มาเริ่มต้นขยับร่างกายวันละนิด เพื่อสุขภาพที่ดีกันค่ะ

เรื่องโดย สสส.


เขียนเมื่อ 2016-02-19 โดย เว็บมาสเตอร์ เข้าชม 1061 ครั้ง